แผ่นพื้นสำเร็จรูป ใช้งานถูกวิธี ไม่มีหัก!

ไอเดียสีทาภายในโทนไหน?บอกความเป็นตัวคุณ
กุมภาพันธ์ 26, 2025



เคยสงสัยกันหรือไม่?ว่า แผ่นพื้นสำเร็จรูป ที่มักนำมาใช้ในงานก่อสร้างทำพื้นบ้านถึงไม่หัก แต่แผ่นพื้นที่ถูกนำไปวางเป็นทางเดิน หรือสะพานขนาดเล็ก หรือวางบนดินกลับมีโอกาสแตกหักได้ง่ายกว่า บ่อยครั้งที่เรามักจะเห็นรูปแบบการใช้งานแผ่นพื้นสำเร็จรูปแบบตันถูกนำไปใช้งานที่หลากหลาย ไม่ใช่แค่การทำพื้นบ้านเท่านั้น แต่จะนิยมนำไปวางแผ่นปูทางเท้า ทำสะพานให้คนเดิน หรือมีรถขนาดเล็กอย่าง จักรยาน หรือ จักรยานยนต์สัญจรไปมา เป็นต้น บางครั้งอาจเป็นการนำไปใช้งานที่ผิดประเภท ซึ่งส่งผลให้เกิดความเสียหาย และอันตรายต่อผู้ใช้งานได้

ปัญหาเกี่ยวกับการใช้งานแผ่นพื้น

- การวางแผ่นพื้นไว้บนพื้นดินเฉยๆ แล้วแผ่นพื้นหักไม่ทราบสาเหตุ

- การวางแผ่นพื้นเป็นทางเดิน หรือ สะพาน แล้วแผ่นพื้นหักตรงกลาง


องค์ประกอบของ “แผ่นพื้นสำเร็จแบบตัน”

1. คอนกรีต มีหน้าที่รับแรงอัด

2. ลวดอัดแรง มีหน้าที่รับแรงดึง ซึ่งจะเป็นการอัดแรงแบบ Pre-Stress คือ ดึงลวดไว้แล้วเทคอนกรีตลงไป เมื่อคอนกรีตเกิดการแข็งตัว จึงทำการตัดลวดให้ขาด จะเกิดแรงบีบอัดของลวดทำให้คอนกรีตสามารถรับแรงดึงได้มากกว่าคอนกรีตธรรมดา

*** เรื่องน่ารู้: ตำแหน่งของการวางลวดเหล็กเสริมในแผ่นพื้น จะไม่ใช่ตำแหน่งกึ่งกลาง แต่จะวางให้ต่ำกว่ากึ่งกลางลงมาซึ่งส่งผลสำคัญต่อการรับน้ำหนักของแผ่นพื้น ตามรายการคำนวณของวิศวกร


การทำงาน “แผ่นพื้นสำเร็จรูป” ในงานปูพื้นบ้าน

แผ่นพื้นคอนกรีตอัดแรง แผ่นคอนกรีตพร้อมใช้งาน มีความกว้าง 30 และ 35 เซนติเมตร ความหนาประมาณ 5 เซนติเมตร เป็นขนาดที่นิยมใช้กันโดยทั่วไป มีลักษณะด้านเรียบ 1 ด้าน และด้านหยาบ 1 ด้าน สังเกตว่าด้านที่หยาบจะมีห่วงเหล็กโผล่ขึ้นมา เมื่อนำไปปูพื้นบ้านจะต้องหงายด้านหยาบขึ้นมา เพราะด้านหยาบถูกออกแบบมาเพื่อให้สามารถยึดเกาะกับปูนในขั้นตอนการเทท้อปปิ้งได้ มีขั้นตอนในการใช้งาน ดังนี้

1. นำแผ่นพื้นสำเร็จรูปวางบนคานที่เตรียมไว้

2. จากนั้นวางตะแกรงเหล็กไวร์เมช (TEMPERATURE STEEL)

3. เทคอนกรีตท็อปปิ้ง (TOPPING CONCRETE) อีก 5 เซนติเมตร

สรุปแล้วจะได้พื้นที่มีความหนาที่ 10 เซนติเมตร เมื่อครบขั้นตอนนี้แล้วแผ่นพื้นสำเร็จรูปจึงจะสามารถรับน้ำหนักได้อย่างสมบูรณ์ เมื่อนำไปใช้ในงานก่อสร้างทำพื้นบ้านจึงไม่เกิดปัญหาแผ่นพื้นหัก เพราะแผ่นพื้นถูกนำไปใช้ได้ถูกต้องตามประเภทการใช้งานนั่นเอง


วางบนพื้นดินแล้วหัก เกิดจากอะไรบ้าง?




- กรณีวางแผ่นพื้นบนดิน แผ่นพื้นจะหักได้ ถ้าวางบนพื้นดินที่ไม่เรียบ หรือไม่มีไม้รองหนุนแผ่นพื้น การเตรียมพื้นที่หน้างานจึงสำคัญมาก ต้องทำการเคลียร์พื้นไม่ให้มีเศษหิน หรือหลุมใดๆ ในจุดที่จะวางกองแผ่นพื้น โดยเฉพาะช่วงหน้าฝน เมื่อฝนตกจุดที่วางแผ่นพื้นไว้ ทำให้ดินยุบตัวเพียงเล็กน้อยก็ทำให้แผ่นพื้นแตกร้าวได้

- กรณีวางเป็นสะพานข้ามคลองขนาดเล็ก เนื่องจากแผ่นพื้นมี 2 ด้าน คือ ด้านที่หยาบมีเหล็กโผล่ และด้านที่เรียบสวย จึงมักนิยมนำด้านที่เรียบหงายขึ้นเพื่อให้สามารถเดินได้สะดวก แต่กลับเป็นการใช้งานที่ผิดหลักการทำงานของแผ่นพื้น

เมื่อเรากลับด้านการใช้งานแผ่นพื้น หน้าที่การทำงานจะถูกสลับกันจึงทำให้ได้ผลลัพธ์ต่างกันอย่างสิ้นเชิง ด้านเรียบที่มีลวดที่จะรับแรงดึงได้ดี แต่ต้องมารับแรงอัดแทน ส่วนด้านหยาบหรือด้านคอนกรีตจากเดิมรับแรงอัดได้ดี ต้องมาทำหน้าที่รับแรงดึงแทน


เกิดอะไรขึ้นเมื่อคนเดินเหยียบบนแผ่นพื้น?


เมื่อรับน้ำหนักจนเกิดเป็นแรงอัดจากด้านบน ส่งผลให้แผ่นคอนกรีตด้านล่างที่เป็นคอนกรีตล้วนๆ เกิดแรงดึงแยกออกจากกัน จนทำให้เกิดรอยร้าวและหนักไปจนถึงแผ่นพื้นหักกลางแผ่นได้ เกิดอันตรายต่อผู้ใช้งานแน่นอน เนื่องจากด้านผิวเรียบที่คนเหยียบนั้น เป็นด้านที่มีลวดซึ่งปกติลวดจะทำหน้าที่รับแรงดึงอยู่แล้ว แต่เมื่อได้รับเป็นแรงอัดแทน จึงไม่ได้ทำหน้าที่ใดๆในส่วนนี้

สรุป

ดังนั้นแล้ว หากต้องการนำแผ่นพื้นมาวางเป็นสะพานทางเดินนั้นยังสามารถทำได้ เพียงวางด้านการใช้งานให้ถูกต้องตามหลักการทำงาน ถึงแม้ว่าด้านที่หยาบนั้นจะมีเหล็กโผล่ขึ้นมา อาจจะทำให้สะดุดล้มเมื่อต้องเดินข้าม ก็สามารถใช้ค้อนทุบพับส่วนนี้ลงได้ แต่อย่างไรก็ตาม ควรนำไปใช้ทำเป็นสะพานข้ามคลองขนาดเล็กเท่านั้น เหมาะสำหรับให้คนเดินข้าม จึงจะมีความปลอดภัยในการใช้งาน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *


The reCAPTCHA verification period has expired. Please reload the page.