“กันไว้ดีกว่าแก้” 11 ข้อกฎหมายเกี่ยวกับรั้วบ้าน

ส่งงาน รั้วสำเร็จรูป ต.ขามป้อม อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี
มิถุนายน 13, 2022
ส่งงาน เสาไฟฟ้า เสารั้ว แผ่นพื้นสำเร็จ ต.ราม อ.เมือง จ.สุรินทร์
มิถุนายน 13, 2022


"กันไว้ดีกว่าแก้" 11 ข้อกฎหมายเกี่ยวกับรั้วบ้าน

mm02
11 ข้อกฏหมายเกี่ยวกับรั้วบ้าน

รั้วบ้านมีความสำคัญอย่างไร?

รั้วบ้าน มีไว้สำหรับกำหนดอาณาเขตของบ้าน และป้องกันการบุกรุกจากบุคคลภายนอก หรือ สัตว์ต่างๆ เพื่อความปลอดภัยของเจ้าของบ้าน นอกจากนี้ยังถือเป็นการตกแต่งบ้าน แสดงถึงตัวตนและไลฟ์สไตล์ของเจ้าของบ้านผ่านการสร้างรั้ว ในปัจจุบันจะเห็นว่า รั้วบ้านมีหลายแบบให้เลือก ที่ให้ทั้งความแข็งแรง ปลอดภัยและสวยงาม เช่น รั้วเหล็ก, รั้วไม้, รั้วอิฐ, รั้วคอนกรีตสำเร็จรูป และรั้วต้นไม้ เพียงเลือกรั้วให้เข้ากับตัวบ้านก็ช่วยเสริมให้บ้านดูสวยงามมีสไตล์มากยิ่งขึ้น

จะสร้างรั้วบ้านอย่างไรให้ถูกกฎหมาย?

ก่อนที่จะทำการสร้างรั้วบ้านจำเป็นต้องศึกษากฎหมายและหาข้อมูลก่อนสักนิด เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาตามมาในภายหลัง เพราะมีหลายท่านที่มักเจอกับปัญหาถกเถียงกันเรื่องรั้วบ้าน หรือที่ดินกันบ่อยๆ โดยเฉพาะท่านที่สร้างรั้วบ้านที่มีแนวเขตพื้นที่ติดกัน มักจะเกิดปัญหาเรื่องการสร้าง ว่าต้องสร้างตรงไหน? หรือสร้างในเขตพื้นที่ของใคร ต้องขออนุญาตก่อนหรือไม่? ซึ่งก่อนจะสร้างรั้วบ้าน สร้างกำแพง หรือผนังตึกใดๆก็ตาม ควรศึกษาข้อกฎหมายเกี่ยวกับรั้วบ้านไว้ก่อนเพื่อลดปัญหาที่จะเกิดขึ้นในภายหลัง
กฎหมายควบคุมการก่อสร้าง ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ซึ่งกำหนดให้เราต้องขออนุญาตก่อสร้างอาคาร โดยได้กำหนดลักษณะอาคารต่างๆไว้ ตามพระราชบัญญัติ มาตรา 4 ข้อที่ (2) เขื่อน สะพาน อุโมงค์ ทางหรือท่อระบายน้ำ อู่เรือ คานเรือ ท่าน้ำ ท่าจอดเรือ รั้ว กำแพง หรือประตูที่สร้างขึ้นติดต่อหรือใกล้เคียงกับที่สาธารณะหรือสิ่งที่สร้างขึ้นให้บุคคลทั่วไปใช้สอย หากดูจากคำนิยามนี้ จะเห็นได้ว่า ปกติแล้วรั้ว หรือ กำแพง ไม่นับว่าเป็นอาคาร แต่หากเป็นรั้วหรือกำแพงใดๆที่ติดกับพื้นที่สาธารณะเท่านั้นที่ถือเป็นอาคาร และจะต้องมีการขออนุญาตก่อสร้างตามกฏหมาย

11 ข้อควรรู้เกี่ยวกับกฎหมายรั้วบ้าน


1. กฎหมายบังคับให้ต้องสร้างรั้วบ้านหรือไม่?
ไม่มีข้อบังคับทางกฎหมายใดๆ ท่านจะสร้างรั้วบ้าน หรือไม่สร้างก็ได้เพราะกฎหมายไม่ได้บังคับ

2. ความสูงของรั้วบ้านสูงได้เท่าไหร่?
กฎหมายควบคุมอาคาร ได้กำหนดให้ก่อสร้างรั้วบ้านสูงได้ไม่เกิน 3 เมตร แต่ความจริงแล้วอาจจะสามารถสร้างได้สูงกว่านั้น ซึ่งต้องมีการขออนุญาติก่อนก่อสร้าง

3. รั้วติดกับที่หรือถนนสาธารณะต้องขออนุญาตหรือไม่?
ต้องยื่นขออนุญาตก่อนก่อสร้าง และมีความสูงของรั้วหรือกำแพงได้ไม่เกิน 3 เมตร ความสูงเริ่มนับจากระดับทางเท้า หรือถนนสาธารณะ

4. รั้วบ้านที่ติดกับที่ดินของเอกชนต้องขออนุญาตหรือไม่?
ไม่จำเป็นต้องขออนุญาตก่อสร้าง เพราะเป็นพื้นที่ของเอกชนสามารถก่อสร้างรั้วได้เลย เพียงแต่ว่าห้ามสร้างรั้วสูงเกิน 3 เมตร หรือสูงเกินกว่า 10 เมตร เพราะหากสูงเกินกว่านั้นอาจจะต้องขออนุญาตก่อนก่อสร้าง

5. การสร้างรั้วที่ติดกับข้างบ้านสร้างยังไง?
โดยทั่วไปมี 2 รูปแบบคือ รั้วส่วนตัว หรือ รั้วร่วมกับข้างบ้าน ซึ่งหากเป็น “รั้วส่วนตัว” ต้องสร้างภายในเขตพื้นที่ของท่านเท่านั้น ห้ามล้ำเขตไปที่ดินของเพื่อนบ้านโดยเด็ดขาดและสร้างได้โดยไม่ต้องขออนุญาต ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1334

Tips: ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1334 ที่ดินรกร้างว่างเปล่า และที่ดินซึ่งมีผู้เวนคืนหรือทอดทิ้งหรือกลับมาเป็นของแผ่นดินโดยประการอื่นตามกฎหมายที่ดินนั้น ท่านว่าบุคคลอาจได้มาตามกฎหมายที่ดิน
6. รั้วที่สร้างร่วมกับข้างบ้านเป็นกรรมสิทธิ์ของใคร?
หากต้องการสร้างรั้วที่มีการรุกล้ำเข้าไปที่เขตของเพื่อนบ้าน ต้องทำการขออนุญาต หรือมีข้อตกลงร่วมกันทั้ง 2 ฝ่ายเสียก่อน ไม่เช่นนั้นอาจจะโดนข้อหาบุกรุกที่ดินของผู้อื่น เมื่อมีการตกลงร่วมกันแล้ว รั้วที่สร้างขึ้นก็ถือเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมกัน โดยกฏหมายไม่ได้มีข้อกำหนดหรือบังคับว่า ใครต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย หรือต้องสร้างในพื้นที่ของใคร ทั้ง 2 ฝ่ายต้องตกลงกันเอง โดยจะสร้างแบบคร่อมที่เขตตรงกลาง หรือสร้างฝั่งใดฝั่งหนึ่งก็ได้

*** สิ่งสำคัญคือต้องตกลงกันให้ดี ในเรื่องของการดูแล สิทธิ์การใช้กำแพง หรือรั้วร่วมกัน ต้องไม่รบกวนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือสร้างความเดือดร้อนให้กับอีกฝ่าย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1344

Tips: ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1344 รั้ว กำแพง รั้วต้นไม้ คู ซึ่งหมายเขตที่ดินนั้น ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเจ้าของที่ดินทั้งสองข้างเป็นเจ้าของรวมกัน
mm01
การสร้างรั้วติดกับเพื่อนบ้าน

7. รั้วปาดมุมต้องสร้างรั้วอย่างไร?
คือ รั้วที่อยู่ตรงมุมถนนสาธารณะ หากมีมุมหักน้อยกว่า 135 องศา ไม่สามารถสร้างรั้วชิดมุมได้ เพราะอาจจะเป็นอันตรายกับการใช้รถ เพราะไม่สามารถมองเห็นฝั่งตรงข้ามได้ โดยมีเงื่อนไขคือ ถนนต้องมีความกว้างอย่างน้อย 3 เมตร และส่วนที่ปาดมุมต้องระยะไม่น้อยกว่า 4 เมตร แต่สำหรับที่ดินตรงมุมนั้นก็ยังเป็นกรรมสิทธิ์ของท่านเช่นเดิม สามารถเป็นพื้นที่ใช้สอยได้ตามปกติ

8. รั้วบ้านต้องสร้างให้มีความแข็งแรง เพราะหากรั้วบ้านที่สร้างไม่ได้มาตรฐาน และเกิดการชำรุด เช่น รั้วล้มทับผู้อื่น จนทำให้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต เจ้าของรั้วบ้านต้องรับผิดชอบ แม้จะเกิดกับคนในบ้านของท่านเอง ก็ถือว่าเป็นความผิดฐานประมาท

9. รั้วบ้านถูกผู้อื่นทำให้พังหรือเสียหาย อย่างเช่น ข้างบ้านมีการก่อสร้าง หรือถมดินทำให้รั้วบ้านของท่านแตกร้าวหรือถล่ม ผู้นั้นต้องรับผิดชอบความเสียหาย เพราะรั้วบ้านถือเป็นทรัพย์สินของเจ้าบ้าน

10. รั้วแบบไฟฟ้า หรือ รั้วลวดหนามติดไฟฟ้า ที่มักติดไว้สำหรับป้องกันขโมย ต้องระมัดระวังอย่างมาก เพราะหากเป็นผู้อื่นที่บังเอิญไปสัมผัสรั้วจนถึงแก่ความตาย เจ้าของรั้วต้องเป็นฝ่ายรับผิดชอบ เพราะมีความผิดฐานประมาท

11. การสร้างรั้วบ้านต้องมีการรังวัดที่ดินให้ดี ดูให้ละเอียดไม่ควรให้มีการล้ำเขตกันตั้งแต่แรก กรณีที่ข้างบ้านล้อมรั้วล้ำเขตมาที่บ้านของท่าน หากอยู่จนครบ 10 ปี ท่านจะต้องเสียที่ดินส่วนนั้นไป เพราะเป็นเรื่องของการครอบครองปรปักษ์ ผู้ที่ถูกกินเนื้อที่จะต้องสูญเสียกรรมสิทธิ์ในที่ดินของตัวเอง

Tips: การรังวัดที่ดิน คือ การที่เจ้าของที่ดินต้องการตรวจสอบหลักเขตที่ดิน และต้องการยืนยันขนาดของที่ดินในโฉนดโดยการยื่นคำขอให้เจ้าหน้าที่กรมที่ดินมาตรวจสอบ โดยการวัด ปักเขต คำนวณ เพื่อให้ทราบที่ตั้ง แนวเขตที่ดิน หรือหาอาณาเขตที่แน่นอน

Tips: การครอบครองปรปักษ์ เป็นการที่บุคคลอื่นจะได้สิทธิหรือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของเราโดยการครอบครองตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๘๒

และนี่ก็คือ ข้อกฎหมาย 11 ข้อ ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างรั้วบ้าน ที่ควรรู้ไว้ก่อนสายเกินแก้ หรือเกิดปัญหาตามมาในภายหลัง เพราะบางท่านอาจจะเกิดปัญหาถกเถียงกันยืดเยื้อและบานปลายได้ เพราะในความเป็นจริงแล้วเพื่อนบ้านอาจจะไม่ใช่เพื่อนบ้านที่ดีต่อกันเสมอไป บ้านใกล้เรือนเคียงกันยิ่งมีโอกาสกระทบกระทั่งกันได้มากที่สุด ทางที่ดีสำหรับการทำรั้วบ้านคือไม่ควรสร้างร่วมกับพื้นที่ของผู้อื่น ควรสร้างในเขตพื้นที่ของท่านเองจะดีที่สุด

ยื่นขออนุญาตก่อสร้างติดต่อที่ไหน?

พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 21 บัญญัติว่า “ผู้ใดจะก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเคลื่อนย้ายอาคารต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น หรือแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นและดำเนินการตามมาตรา 39 ทวิ” ท่านสามารถติดต่อขออนุญาตกับพนักงานท้องถิ่น สำหรับเขตกรุงเทพมหานคร ติดต่อสำนักงานเขต สำนักการโยธา แยกตามประเภทของอาคาร หากเป็นต่างจังหวัดยื่นได้ที่เทศบาลท้องถิ่น และนอกเขตเทศบาลติดต่อได้ที่ อบต. ของแต่ละพื้นที่ หากท่านทำการก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาตจะมีโทษคือ ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามมีโทษตามมาตรา 65 จำคุก 3 เดือน และปรับไม่เกิน 60,000 บาท ดังนั้นแล้วควรศึกษารายละเอียดให้ดี ก่อนคิดจะทำการก่อสร้างใดๆ เพื่อความปลอดภัย ไร้ปัญหาระยะยาว

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *


The reCAPTCHA verification period has expired. Please reload the page.